แนะนำอาหารแมวแต่ละช่วงวัย เพื่อสุขภาพเจ้าเหมียวสมบูรณ์แข็งแรง

แนะนำอาหารแมวแต่ละช่วงวัย เพื่อสุขภาพเจ้าเหมียวสมบูรณ์แข็งแรง

แมว คือสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอันดับต้น ๆ เพราะนอกจากเจ้าเหมียวจะช่วยให้คนเลี้ยงรู้สึกเพลิดเพลินแล้ว การมีแมววิ่งเล่นในบ้านยังช่วยให้คลายเครียด บรรยากาศในบ้านผ่อนคลายเพราะความออดอ้อนและพฤติกรรมน่ารัก ๆ ของเจ้าเหมียว แต่หากต้องการให้เจ้าเหมียวอยู่กับเราไปนาน ๆ การให้น้องทานอาหารอิ่มท้องทุกมื้ออาจไม่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพสักเท่าไหร่ ถ้าจะให้ดีต้องเลือกอาหารเหมาะกับช่วงวัย ตอบโจทย์ความต้องการของร่างกายเจ้าเหมียวในช่วงอายุนั้น ๆ 

แนะนำอาหารแมวแต่ละช่วงวัย เพื่อสุขภาพเจ้าเหมียวสมบูรณ์แข็งแรง

– ลูกแมว

เมื่อลูกแมวลืมตาดูโลก แน่นอนว่าอาหารที่เหมาะกับลูกแมวมากที่สุดคือนมแม่ ซึ่งลูกแมวควรทานนมแม่จนอายุ 4-6 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อย ๆ เปลี่ยนให้มาทานอาหารแบบเปียก เน้นอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยในการเจริญเติบโต รวมถึงส่วนผสมประเภทแคลเซียม ฟอสฟอรัส และ DHA ซึ่งเหมาะกับช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุด

– แมวโตเต็มวัย

แมวโตเต็มวัยเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 7-12 เดือน แมวช่วงวัยนี้จะมีความกระตือรือร้น ไม่อยู่นิ่ง เรียกง่าย ๆ คือค่อนข้างซน จึงเป็นวัยที่ต้องใช้พลังงานเยอะ สามารถให้อาหารได้ทั้งอาหารเม็ดและอาหารแบบเปียก แต่เน้นที่สารอาหารประเภทโปรตีนที่ช่วยให้พลังงาน สร้างกล้ามเนื้อ และโอเมก้า – 3 ช่วยเรื่องการมองเห็น ช่วงวัยนี้แนะนำให้ทาสแมวสังเกตด้วยว่าเจ้าเหมียวน้ำหนักเกินหรือไม่จะได้ปรับเปลี่ยนปริมาณอาหารได้ทันที เพราะหากปล่อยให้อ้วนจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคต

– แมวสูงอายุ

หากเจ้าเหมียวอายุ 7 ปีขึ้นไป จัดว่าเป็นแมวสูงอายุ โดยแมวสูงวัยมักมีอาการเฉื่อยชามากขึ้น เคลื่อนไหวน้อยลง ระบบการเผาผลาญในร่างกายจึงลดลงตามไปด้วย แมวสูงอายุจึงไม่ต้องทานอาหารปริมาณมากเท่าแมวโตเต็มวัย แต่เน้นสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะโปรตีนเพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อ ไฟเบอร์ช่วยเรื่องการขับถ่าย รวมถึงแคลเซียมและฟอสฟอรัสช่วยเรื่องระบบและข้อที่เสื่อมสภาพไปตามวัย

– แมวตั้งครรภ์

เจ้าเหมียวบ้านไหนที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่ เหล่าทาสแมวต้องดูแลเป็นพิเศษด้วยการเพิ่มอาหารประเภทแคลเซียมและโปรตีน เพราะแม่แมวต้องตุนสารอาหารเผื่อลูกน้อยในครรภ์ นอกจากนี้ ช่วงใกล้คลอดควรงดกิจกรรมที่อาจเกิดแรงกระแทก ควรจัดสภาพแวดล้อมให้แม่แมวพักผ่อนอย่างสบายใจ ไม่เครียด 

นอกจากการดูแลสุขภาพเจ้าเหมียวด้วยการให้อาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยแล้ว เหล่าทาสแมวทั้งหลายยังต้องดูแลสุขภาพลูกรักด้วยการพาเจ้าเหมียวไปฉีดวัคซีนทุกปี รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับแมวสูงวัยที่มีโอกาสเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพื่อให้สุขภาพเจ้าเหมียวสมบูรณ์แข็งแรงและอยู่กับเราไปนาน ๆ 

หมัดแมว อันตรายแค่ไหน เหล่าทาสควรรู้ไว้และหาวิธีป้องกัน

หมัดแมว อันตรายแค่ไหน เหล่าทาสควรรู้ไว้และหาวิธีป้องกัน

แมว เป็นสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักที่คนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมเลี้ยง เพราะความน่ารัก ขี้อ้อนจึงทำให้หลายคนตกเป็น ทาสแมว แต่รู้หรือไม่ว่าบนความน่ารักนั้นหากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดี ก็จะนำพาอันตรายมาสู่แมวและผู้เลี้ยงได้ โดยเฉพาะอาการคันที่ไม่พึงประสงค์

หมัดแมว คืออะไร

หมัดแมว ถือเป็นปรสิตที่มีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดลำตัวยาวเพียง 1-4 มิลลิเมตรเท่านั้น มีความสามารถในการกระโดดได้ไกล สร้างความรำคาญให้แก่สัตว์เลี้ยงและคนได้ เพราะสามารถที่จะซ่อนตัวตามโซฟา, ที่นอน, หมอน, ผ้าห่มและพื้นที่ที่มีส่วนประกอบของผ้าได้ อาหารที่สำคัญของหมัดแมวคือ เลือด สัตว์เลี้ยงจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะแมวเพราะมักจะไม่ค่อยชอบอาบน้ำสักเท่าไร จึงเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของปรสิตชนิดนี้

วงจรชีวิตของ หมัดแมว จะมีระยะเวลาในการฟักไข่ 2- 16 วัน ก่อนเป็นตัวอ่อนเริ่มแรกใช้เวลา 7-10 วัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะดักแด้ ก่อนที่จะลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยพร้อมที่จะหากินบนตัวลัตว์เลี้ยง โดย หมัดแมว สามารถที่จะอาศัยอยู่บนตัวสัตว์เลี้ยงได้นานสูงสุดถึง 58 วัน ในระหว่างนั้นสามารถที่จะแพร่พันธุ์และกระจายไปยังสัตว์อื่น ๆ ด้วยวิธีการกระโดด

อาการของแมวและสัตว์เลี้ยงเมื่อมี หมัดแมว อาศัยอยู่

อาการเริ่มแรกที่ส่งผลโดยตรงแก่สัตว์เลี้ยง คือ จะเกาบริเวณที่คัน โดยเฉพาะบริเวณหลังหู หลัง หรือที่เล็บไม่สามารถเกาถึงได้ง่าย ในบางรายหากเกามาก ๆ จะทำให้เกิดรอยแดง ขนร่วง จนเป็นสะเก็ดแผล หากรุนแรงมากอาจทำให้ติดเชื้อและกลายเป็นแผลเปิดได้ สำหรับผู้เลี้ยงหากโดน หมัดแมวกัด จะมีอาการคัน ถึง คันมาก เป็นผื่นแดง บางรายเกาจนเป็นแผล ส่งผลให้เกิดอาการติดเชื้อ Rickettsia จนนำไปสู่การเป็นโรคไทฟัสได้

วิธีการกำจัด หมัดแมว

เนื่องจากหมัดแมว เป็นปรสิตขนาดเล็ก มักอาศัยอยู่บริเวณที่มีขนฟู ๆ หนา ๆ หรือซอกผ้าห่ม หมอน ที่นอนและโซฟาที่เป็นผ้า ดังนั้น ควรทำความสะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะ ทาสแมว ที่มักจะนำแมวไปนอนหรืออาศัยในห้องนอนด้วย ในขณะที่ตัวแมวเองก็ควรได้รับการอาบน้ำด้วยน้ำยากำจัดหมัดแมวบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงให้แมวออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็นหรือการปล่อยให้แมวไปคลุกคลีกับแมวจรอื่น ๆ เพราะอาจเป็นพาหะของหมัดแมวและโรคภัยอื่น ๆ ได้ การได้รับยาหรือผลิตภัณฑ์กำจัดหมัดแมวเพื่อกินโดยตรงควรได้รับคำปรึกษาจากสัตวแพทย์เสียก่อน

ไม่ว่าหมัดแมว จะมีอันตรายมากแค่ไหน หาก ทาสแมวทั้งหมายเอาใจใส่และดูแลความสะอาดอยู่สม่ำเสมอ ก็ไม่สามารถทำร้ายหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและเจ้าของได้ อย่าลืมว่าสัตว์เลี้ยงเองก็ต้องการเอาใจใส่และดูแลไม่ต่างจากคนเช่นกัน