ภาษีความหวาน ผลักธุรกิจเครื่องดื่มแห่ปรับเพิ่มราคา

ภาษีความหวาน ผลักธุรกิจเครื่องดื่มแห่ปรับเพิ่มราคา

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาน้ำตาลและสารให้ความหวานมักถูกเติมลงในขนมและไอศกรีมเพื่อให้มีความหวานมากขึ้น การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพตั้งแต่หัวจรดเท้า เสี่ยงเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไปจนถึงฟันผุเหงือกอักเสบ เป็นเหตุให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีความหวานกับธุรกิจเหล่านี้ช่วยให้คนทุกเพศวัยลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงส่งผลเสียต่อร่างกาย 

การเปลี่ยนจากน้ำตาลมาเป็นสารให้ความหวานเพื่อให้อาหารและเครื่องดื่มแบบบรรจุกล่องและขวดมีรสหวานถือเป็นเรื่องปกติมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เช่น จีน อินเดีย แต่กลับลดลงในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา สาเหตุจากพฤติกรรมการบริโภคนี้เองทำให้ผู้ป่วยโรคเหล่านี้มีมากขึ้นและเกิดกับคนอายุน้อยลง ในส่วนของคนไทยเองบริโภคน้ำตาลมากถึง 20 ช้อนชาต่อวัน ถือว่าสูงมากจากเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 6 ช้อนชาเท่านั้น ส่งผลให้คนไทยหลายล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ ที่กระทบต่อสุขภาพต้องรักษาไปตลอดชีวิต

ด้วยเหตุนี้ กรมสรรพสามิตของไทยพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล ใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นมาตรการภาษีที่ช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้คนไทยและกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 จนถึง 31 มีนาคม 2568 มีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นและจะมีการปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ทุก 2 ปี สำหรับรายละเอียดของการปรับเพิ่มภาษีมีผลกระทบต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่ใช่น้อย มาติดตามรายละเอียดกันเลย

ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษี 0 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 0 บาทต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 0.1 บาทต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 0.3 บาทต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 1 บาทต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 3 บาทต่อลิตร

ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 5 บาทต่อลิตร

หลังการปรับเพิ่มภาษีความหวาน ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มย่อมต้องได้รับผลกระทบไม่น้อย จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้เสียภาษีเพิ่ม แม้ว่าเครื่องดื่มน้ำตาลน้อยกำลังมีมากขึ้น แต่ก็มีผู้ผลิตรายใดที่ลดปริมาณน้ำตาลลงไม่ได้และมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 14-18 กรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 3 บาท เป็น 5 บาทต่อลิตร 

ในเมื่อคนไทยปรับพฤติกรรมการกินไม่ได้ เคยชินกับเครื่องรสหวานจัด  ดื่มเวลาอากาศร้อนแล้วเย็นชื่นใจ ธุรกิจเครื่องดื่มที่แบกรับภาษีความหวานไม่ไหวย่อมต้องผลักภาระมาที่ผู้บริโภคตามเคย หลายรายประกาศปรับราคาเครื่องดื่มสำเร็จรูปหลายเมนู ด้วยเหตุผลเรื่องราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสาเหตุจากภาษีความหวานด้วยนั่นเอง