วิธีดูแลผู้สูงวัยให้อิ่มสุข

วิธีดูแลผู้สูงวัยให้อิ่มสุข

ผู้สูงวัย คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นช่วงชีวิตสุดท้ายที่ต้องให้การดูแลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อสภาพร่างกาย จิตใจที่ถดถอย และโรคภัยที่พร้อมมาเยือน การดูแลผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องที่ลูกหลานจำเป็นต้องใส่ใจ เรียนรู้ ด้วยความเข้าใจและจัดการให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของคนในวัยนี้ เรามี 5 วิธีดูแลมาฝากกัน

5 วิธีดูแลผู้สูงอายุ

อาหาร ในช่วงวัยนี้มีการใช้พลังงานน้อยลง ต้องการพลังงานประมาณ 1,400-1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรรับประทานอาหารที่เน้นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ มวลกระดูก บำรุงสมอง และระบบประสาท มีส่วนลดการสะสมของไขมันส่วนเกิน กากใยสูง ย่อยง่ายดีต่อระบบขับถ่าย ป้องกันอัลไซเมอร์ รับประทานให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีโปรตีน (ไขมันต่ำ) แคลเซียม วิตามินดี เค และแมกนีเซียม ตัวอย่างอาหาร เช่น กลุ่มผักสีเขียวเข้ม, ปลาเล็กปลาน้อย, นม, ธัญพืชต่าง ๆ อาหารที่อุดมด้วยกรดโอเมก้า 3 ที่มีสารสื่อประสาทโคลิน เลซิติน และวิตามินบีต่าง ๆ ได้แก่ บี1 บี6 และบี 12 ซึ่งพบใน ปลาทะเลน้ำลึก ไข่แดง กล้วย ถั่ววอลนัท ผักโขม ดอกกะหล่ำ ใบแปะก๊วย ถั่วเหลือง และข้าวกล้อง เป็นต้น

ออกกำลังกาย กระตุ้นการไหลเวียนของระบบน้ำเหลือง และโลหิต ขับเหงื่อระบายของเสีย ด้วยการแอโรบิกเบา ๆ ลดแรงกระแทก ทำเป็นประจำต่อเนื่อง เช่น เดินเร็ววันละ 30 นาที, แกว่งแขน, ว่ายน้ำ เป็นต้น พาไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะ หรือในสถานที่ที่โอโซนสูง เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์เป็นระยะ ๆ

การนอนหลับ จัดการให้ท่านนอนหลับสนิทในตอนกลางคืนไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง และหาโอกาสงีบหลับช่วงกลางวัน 15-30 นาที หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดการเสพสื่อที่กระตุ้นสมองก่อนเข้านอน และไม่ควรเข้านอนเกิน 21.00 น.

อารมณ์ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงกับความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ และด้อยค่าในตัวเองเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ควรปรุงอารมณ์ดีมีความสุขด้วยกิจกรรมที่ชอบ อากาศที่ดี สิ่งแวดล้อมเชิงบวก เช่น เข้าถึงดนตรีสร้างความสงบ, ชมภาพยนตร์, อ่านหนังสือเล่มโปรด, ทำงานฝีมือ, พาไปเที่ยวสถานที่โปรด ฯลฯ หลีกเลี่ยงการเสพสื่อ และคบหากับคนที่มีทัศนคติลบ, เลี่ยงสภาวะกระตุ้นความเครียด เช่น ที่แออัด อากาศร้อน อบอ้าว เสียงดัง ผู้คนพลุกพล่าน

อาทรห่วงใยให้ความสำคัญ ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น การแต่งบ้าน, ซื้อของใช้ในบ้าน ฯลฯ มอบหมายภารกิจ เช่น เล่านิทาน, ดูแลต้นไม้,คิดเมนูอาหาร ฯลฯ พาไปร่วมกิจกรรมสังคม และการพาไปพบญาติ หรือเพื่อนสนิทเป็นระยะ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยน เล่าความหลังที่มีความสุขร่วมกันช่วยกระตุ้นการหลั่งของสารสุขได้เป็นอย่างดี

หากพิจารณาความต้องการของผู้สูงวัย และการปฏิบัติดูแลก็ไม่ต่างจากช่วงวัยที่ท่านดูแลลูกหลานในวัยเยาว์ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องการสร้างเสริมร่างกายให้แข็งแรง ปกป้องให้ห่างไกลโรคภัย ต้องให้เวลาทะนุถนอมดูแลสร้างความอบอุ่นทางใจ นี่จึงเป็นช่วงเวลาแสดงความกตัญญูที่ลูกหลานไม่ควรละเลย